28 Views |
โพรไบโอติกส์: ทางเลือกการปรับสมดุลภายในเพื่อการดูแลสุขภาพสำหรับผู้หญิงยุคใหม่
Probiotics: A Health Rebalancing Alternative for Modern Women
By: ดร. กอบกุล เหล่าเท้ง
Kobkul Laoteng, Ph.D.
National Center for Genetic Engineering and Biotechnology (BIOTEC)
National Science and Technology Development Agency (NSTDA)
kobkul@biotec.or.th
ศุกร์นิมิต สุจิรา
Suknimit Sujira
National Center for Genetic Engineering and Biotechnology (BIOTEC)
National Science and Technology Development Agency (NSTDA)
suknimit.suj@biotec.or.th
จากงานวิจัยด้านประโยชน์ของจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ต่อระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง พบว่า ประชากรจุลินทรีย์ หรือไมโครไบโอม (Microbiome) ในช่องคลอดนั้น ส่วนใหญ่พบแบคทีเรียในจีนัส Lactobacillus มากที่สุดถึงร้อยละ 70 - 90 โดยเฉพาะสปีชีส์ L. crispatus, L. gasseri, L. iners, L. jensenii, L. reuteri, L. rhamnosus และ L. fermentum มีความสำคัญในแง่การรักษาสมดุลของสภาพแวดล้อมความเป็นกรดอ่อน (pH 3.5-4.5) ในช่องคลอด และการผลิตสารชีวภาพต่างๆ เช่น ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (H2O2) แบคทีริโอซิน (bacteriocins) และสารลดแรงตึงผิวชีวภาพ (biosurfactants) ที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งจุลินทรีย์ ช่วยป้องกันการเติบโตของจุลินทรีย์ก่อโรค การใช้ยาคุมกำเนิด การตั้งครรภ์ การมีรอบเดือน และการใช้ยาปฏิชีวนะ ล้วนเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของประชากรจุลินทรีย์ในช่องคลอดของผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งพบว่าการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด (Bacterial Vaginosis; BV) เป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยมีความชุก (อัตราการเกิด) ประมาณร้อยละ 10-20 ในหลายประเทศของทวีปเอเชีย โดยมีรายงานว่า การเสริมด้วยโพรไบโอติกส์ L. crispatus, L. jensenii และ L. gasseri สามารถช่วยรักษาโรค BV ได้ ด้วยการเข้าไปฟื้นฟูสมดุลของจุลินทรีย์ในช่องคลอด และยังช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อในช่องคลอดจากเชื้อรา (vaginal candidiasis) ที่เป็นสาเหตุของภาวะช่องคลอดอักเสบ ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้หญิง หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย โดย L. crispatus มีกลไกการยับยั้งการติดเชื้อแบคทีเรีย Chlamydia trachomatis ที่เป็นสาเหตุของโรคหนองในเทียม (Chlamydia) จากสารลดแรงตึงผิวทางชีวภาพที่เซลล์โพรไบโอติกส์ผลิตขึ้น และโพรไบโอติกส์บางสายพันธุ์ยังออกฤทธิ์ยับยั้งการเติบโตและการมีชีวิตของ Neisseria gonorrhoeae ที่เป็นสาเหตุของโรคหนองใน (Gonorrhea) นอกจากนี้ ยังมีรายงานถึงประโยชน์ของการเสริมโพรไบโอติกส์กับการรักษากลุ่มอาการถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome; PCOS) ซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของฮอร์โมนในผู้หญิงที่ส่งผลต่อการทำงานของรังไข่
ในช่วงตั้งครรภ์ มีรายงานถึงประโยชน์ของโพรไบโอติกส์ต่อการลดภาวะแทรกซ้อนในระหว่างการตั้งครรภ์ และการติดเชื้อทางช่องคลอดอาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์ การรับประทานโพรไบโอติกส์สามารถแก้ปัญหาการติดเชื้อทางช่องคลอด และยังช่วยลดอาการท้องอืด ท้องผูก หรือกรดไหลย้อน ซึ่งเป็นปัญหาที่ผู้หญิงหลายคนมักประสบในระหว่างการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ ยังมีรายงานการศึกษาที่พบว่าโพรไบโอติกส์ อาจมีบทบาทในการลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (gestational diabetes) และภาวะโลหิตจางในระหว่างการตั้งครรภ์ (obstetric anemia) ช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันและป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะได้อีกด้วย โดยจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ยังได้รับการยอมรับว่ามีผลเชิงบวกต่อสุขภาพจิตของผู้หญิง โดยเฉพาะในกรณีของภาวะซึมเศร้าหรือความเครียด การเสริมด้วยโพรไบโอติกส์อาจช่วยปรับสมดุลทางอารมณ์และลดอาการวิตกกังวลในผู้หญิง ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับประชากรจุลินทรีย์ในลำไส้ที่ส่งผลต่อระบบประสาทและการทำงานของสมอง การใช้โพรไบโอติกส์อาจเป็นทางเลือกในการรักษาอาการวิตกกังวลของมารดาก่อนคลอดและภาวะซึมเศร้าของมารดาหลังคลอดได้เช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีรายงานถึงบทบาทของโพรไบโอติกส์ช่วงหลังการตั้งครรภ์ในการลดความเสี่ยงการอักเสบของเต้านมที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
ในช่วงวัยหมดประจำเดือน ผู้หญิงมักมีอาการต่างๆ ที่เป็นผลจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง โดยเฉพาะอาการที่บริเวณระบบทางเดินปัสสาวะและอวัยวะสืบพันธุ์ ซึ่งเนื้อเยื่อในทางเดินปัสสาวะและอวัยวะสืบพันธุ์จะบางลงและแห้ง โดยโพรไบโอติกส์ยังคงเป็นทางเลือกที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน นอกเหนือจากการรักษากลุ่มอาการดังกล่าวด้วยฮอร์โมนแล้ว โพรไบโอติกส์สามารถช่วยรักษาหรือปรับสมดุลฮอร์โมน และลดอาการที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น ภาวะช่องคลอดแห้งที่ทำให้เพิ่มโอกาสในการอับเสบหรือการติดเชื้อของช่องคลอด และมีปัญหาขณะมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่ชี้ว่าการเสริมโพรไบโอติกส์มีส่งผลดีต่อกระดูก อาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคกระดูกพรุนในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนได้ โดยช่วยรักษาระดับเอสโตรเจนในเลือด
According to research, the vaginal microbiome, comprising 70-90% Lactobacillus species, especially L. crispatus, L. gasseri, L. iners, L. jensenii, L. reuteri, L. rhamnosus, and L. fermentum, helps maintain a healthy pH (3.5-4.5) and produces antimicrobial compounds, such as hydrogen peroxide (H2O2), bacteriocins and biosurfactants. Hormonal changes, pregnancy, menstruation, and the uses of antibiotics and contraceptives can disrupt this balance. Bacterial vaginosis (BV), affecting 10-20% of women in some Asian countries, can be treated with probiotics containing L. crispatus, L. jensenii, and L. gasseri, restoring balance and reducing risks like candidiasis. These probiotics may also mitigate some STIs; for example, L. crispatus inhibits Chlamydia trachomatis, a cause of chlamydia, by producing biosurfactants, and some strains target Neisseria gonorrhoeae, a cause of gonorrhea. Probiotics may also play a role in managing polycystic ovary syndrome (PCOS).
During pregnancy, probiotics can mitigate infection risks, which can impact outcomes. They may also alleviate common discomforts like flatulence, constipation, and gastroesophageal reflux disease (GERD), and potentially reduce the risk of gestational diabetes, obstetric anemia, and urinary tracts infections (UTIs). Furthermore, probiotics may positively influence mental health, potentially reducing anxiety, stress, prenatal anxiety, postpartum depression, and mastitis, possibly through the gut-brain axis.
Menopause, marked by declining estrogen, often causes thinning and dryness in urogenital tissues, leading to varied symptoms. Probiotics can help readjust hormonal balance, alleviating symptoms like vaginal dryness and reducing the risk of vaginal inflammation and infections during intercourse. Research suggests probiotics may also benefit bone health by regulating estrogen, thus lowering osteoporosis risk.