พลาสติก PET ใช้แล้วกับการนำกลับมาบรรจุเครื่องดื่มที่ต้องการความพิถีพิถันในการบรรจุ

901 Views  | 

พลาสติก PET ใช้แล้วกับการนำกลับมาบรรจุเครื่องดื่มที่ต้องการความพิถีพิถันในการบรรจุ

พลาสติก PET ใช้แล้วกับการนำกลับมาบรรจุเครื่องดื่มที่ต้องการความพิถีพิถันในการบรรจุ โครงการวิจัยร่วมของ Krones และ Alpla ให้ผลลัพธ์ที่น่าทึ่ง

พุ่งสวนกระแสตลาดบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม ปัจจุบัน การนำบรรจุภัณฑ์ PET ใช้แล้ว กลับมาบรรจุใหม่นั้น ไม่เป็นที่นิยมมากนักในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากงานวิจัยจากโครงการวิจัยร่วมระหว่าง Krones และ Alpha กลับให้ผลที่น่าสนใจสวนทางกระแสความนิยม โดยในระยะแรกของโครงการ คณะทำงานได้ทำการประเมินปัจจัยทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ ที่สำคัญ ทั้งด้านวัสดุบรรจุภัณฑ์และกระบวนการผลิตอย่างครบถ้วน ซึ่งจากการวิจัยนี้ ทำให้ Krones และ Alpla สามารถพัฒนาบรรจุภัณฑ์ PET ที่สามารถนำกลับมาหมุนเวียนหรือใช้งานใหม่ได้ และยังมีคุณสมบัติสามารถใช้กับเครื่องดื่มที่ต้องการความพิถีพิถันในการบรรจุ ซึ่งต้องผ่านกระบวนการยืดอายุการเก็บรักษา และยังต้องเก็บรักษาในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม (ESL; Extended Shelf Life products)  เช่น น้ำผลไม้ และนมที่ต้องมีการควบคุมอุณหภูมิความเย็นเพื่อรักษาคุณภาพ ได้อีกด้วย

อย่างไรก็ดี ประเด็นด้านความยั่งยืนกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกบรรจุภัณฑ์ของผู้บริโภคมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกฎระเบียบ เป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ และความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม Martina Birk ผู้รับผิดชอบโครงการความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมที่ Krones กล่าวว่า “ประเภทของบรรจุภัณฑ์ที่สามารถทำงานได้ดีที่สุดจากมุมมองทางนิเวศวิทยานั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ โดยต้องได้รับการประเมินเป็นรายกรณีแล้วแต่การใช้งาน” อย่างไรก็ตาม บรรจุภัณฑ์ PET ที่นำกลับมาหมุนเวียนหรือใช้งานใหม่มักจะไม่ได้คำนึงถึงประเด็นนี้ตั้งแต่แรก แต่ Birk ก็ได้เน้นย้ำว่า “บรรจุภัณฑ์เหล่านั้นสามารถตอบโจทย์ต่างๆ ดังกล่าวได้อย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผลิตภัณฑ์ที่มีการกระจายสินในภูมิภาคเป็นหลัก”        

ตัวอย่างขวดบรรจุภัณฑ์และกระบวนการทำความสะอาด

ความร่วมมือกันของ Krones และ Alpha ในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์จาก บรรจุภัณฑ์ PET ใช้แล้วสามารถประยุกต์ใช้ได้กับเครื่องดื่มหลากหลายประเภท Jörg Schwärzler ผู้เชี่ยวชาญด้านบรรจุภัณฑ์รีไซเคิล และหัวหน้าโครงการที่ Alpla กล่าวว่า “การใช้งานหลักของบรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาหมุนเวียน หรือใช้งานใหม่ที่ยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน คือ บรรจุภัณฑ์สำหรับเครื่องดื่มที่มีการอัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (น้ำอัดลม) และน้ำดื่ม อย่างไรก็ตาม พวกเรามีความมั่นใจว่า หากรวมความเชี่ยวชาญในด้านวัสดุศาสตร์ การออกแบบพรีฟอร์มและการขึ้นรูป การออกแบบบรรจุภัณฑ์ และวิศวกรรมระบบ จะสามารถหาวิธีในการแก้ปัญหาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่มีความละเอียดอ่อน และต้องใช้ความพิถีพิถันในกระบวนการผลิต (Sensitive) เช่น น้ำผลไม้ และนมได้ โดยทางเลือกหนึ่ง คือการใช้ขวดบรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดความกว้างของคอขวด 38 มิลลิเมตร ซึ่งจะช่วยสำหรับการบรรจุ ให้สามารถทำได้ด้วย บรรจุภัณฑ์ PET ที่นำกลับมาหมุนเวียนได้

Ines Bradshaw กล่าวว่า “นอกจากนี้ คู่ค้ายังให้ความสนใจกับกระบวนการทำความสะอาดบรรจุภัณฑ์เป็นพิเศษ เนื่องจาก ขวดพลาสติก PET ทนความร้อนได้น้อยกว่าขวดแก้ว ดังนั้น จึงต้องหาวิธีที่จะทำให้มั่นใจถึงความปลอดภัยทางจุลชีววิทยา และจำนวนรอบหรือความถี่ในการวนกลับมาใช้งานมากขึ้น เมื่อขวดจำเป็นต้องถูกทำความสะอาดที่อุณหภูมิต่ำอยู่บ่อย”

ทั้งนี้ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลพื้นฐาน Krones ได้ดำเนินการทดสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วนที่โรงงานสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีการล้างขวด ในเมือง Flensburg  ผ่านการทดลองมากมาย และวิเคราะห์ขวดรูปแบบต่างๆ และกระบวนการทำความสะอาดหลากหลายรูปแบบ ซึ่ง Bradshaw กล่าวว่า “การทดสอบทำให้เห็นผลของปัจจัยด้านความร้อน สารเคมี และปัจจัยทางกลที่ชัดเจนมากขึ้น จากผลการวิจัย พบว่า การผสมผสานพารามิเตอร์อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเข้มข้นของสารละลายด่าง อุณหภูมิ สารเติมแต่ง และแรงทางกล โดยการใช้อุณหภูมิประมาณ 60 องศาเซลเซียสนั้น เพียงพอสำหรับการกำจัดโปรตีน ไขมัน และแป้งที่ปนเปื้อน ออกจากบรรจุภัณฑ์ได้อย่างมั่นใจ

 

เปรียบเทียบกับขวดแก้วรีไซเคิล

การเปรียบเทียบบรรจุภัณฑ์ PET กับขวดแก้วที่นำกลับมาใช้ใหม่ทำให้พบประเด็นที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือ ตลอดระยะเวลาในการทำความสะอาดหลายรอบ น้ำยาทำความสะอาดที่เป็นด่างส่งผลให้พื้นผิวของขวดแก้วเกิดความหยาบหรือขรุขระขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งไม่พบในบรรจุภัณฑ์ PET Bradshaw กล่าวว่า “คุณภาพที่มีมาตรฐานของบรรจุภัณฑ์ถือเป็นข้อได้เปรียบที่ไม่ควรมองข้ามในการบรรจุเครื่องดื่มที่ต้องการความพิถีพิถันในกระบวนการผลิต เช่น น้ำผลไม้ และนม

อย่างไรก็ดี ขณะนี้การทดสอบทางจุลชีววิทยาเพื่อระบุให้แน่ชัดว่าเทคโนโลยีที่ใช้มีความปลอดภัยหรือไม่ กำลังอยู่ในช่วงดำเนินการ โดยผลการทดลองเบื้องต้นเป็นไปตามข้อสังเกตที่วางไว้ ซึ่ง Bradshaw กล่าวว่า “ เราไม่สามารถแยกความแตกต่างในทางจุลชีววิทยาของขวด PET ที่ผ่านการล้างจำนวน 25 รอบ กับขวดใหม่ได้” โดยจากผลลัพธ์ดังกล่าว ทำให้โครงการนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ และพร้อมต่อยอดสำหรับขั้นตอนต่อไป ซึ่งก็คือ การเตรียมการสำหรับการทดสอบทางเทคนิคที่ก็กำลังเดินหน้าไปได้ด้วยดี 

พันธมิตรโครงการ

เป็นที่ทราบกันดีว่า Krones นั้นเป็นหนึ่งในผู้นำในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มระดับสากล ซึ่งขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง และไม่เคยหยุดพัฒนา อีกทั้งยังพร้อมสนับสนุนคู่ค้าในการสร้างมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเป็นส่วนหนึ่งในโครงการวิจัยครั้งนี้ รวมถึงเป็นผู้สนับสนุนหลัก จึงมีเป้าหมายถัดไปในการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพด้านพลังงาน และเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

 

บรรจุภัณฑ์ PET ที่นำกลับมาใช้ใหม่ซึ่งผ่านการทดสอบแล้ว ซึ่งเหมาะสำหรับการบรรจุน้ำผลไม้ และผลิตภัณฑ์นมที่มีการควบคุมอุณหภูมิความเย็นเพื่อรักษาคุณภาพ

    

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  and